ท่านภูมิธรรม สั่ง สกมช. คุมเข้มทุกหน่วยงานดำเนินการตาม พ.ร.บ.ไซเบอร์ ยกระดับการขับเคลื่อนด้านไซเบอร์ของประเทศ พร้อมเร่งผลักดันสู่ตัวชี้วัด ก.พ.ร.

วันที่ 25 มีนาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) ครั้งที่ 1/2567 ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ในฐานะกรรมการและเลขานุการการประชุม กล่าวว่า “ที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบการดำเนินการตามกรอบ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ.2562 ให้เป็นองค์ประกอบการประเมินส่วนราชการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการและจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในองค์ประกอบการประเมินศักยภาพในการดำเนินงาน ในหัวข้อการพัฒนาองค์การสู่ดิจิทัล รวมถึงเน้นย้ำกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง ของหน่วยงานควบคุมหรือกำกับดูแล (Regulator), หน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (หน่วยงาน CII) และ หน่วยงานของรัฐ เพื่อให้การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในภาพรวมของประเทศให้มีประสิทธิภาพ และการบูรณาการส่งเสริมและผลักดันการขับเคลื่อนโครงการความร่วมมือเพื่อทบทวน พัฒนา และปรับปรุงแผนปฏิบัติด้านการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ พ.ศ. 2566 – 2570 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ได้อนุมัติหลักการให้ สกมช. ดำเนินการเร่งด่วนทางมาตรการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และข้อมูลส่วนบุคคล ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดำเนินการตรวจสอบหน่วยงานที่มีข้อมูลส่วนบุคคลจำนวนมาก พร้อมทั้งรับทราบรายงานผลการปฏิบัติของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติและรายงานเหตุการณ์ภัยคุกคามที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ในห้วง เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2566 โดย สกมช. จะติดตามการดำเนินงานตาม พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ของทุกหน่วยงานอย่างเคร่งครัด”
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กมช.) กล่าวทิ้งท้ายว่า “จากการประชุมในวันนี้ กมช. ได้รับทราบดำเนินการของ สกมช. ในการช่วยเหลือในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ตลอดจนรายงานประจำปี 2566 และอีกสิ่งสำคัญคือ การบูรณาการความร่วมมือทางด้านไซเบอร์กับหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมทั้งผลักดันการแก้กฎหมายเพื่อให้สามารถยกระดับการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และขอให้ใช้โอกาสนี้ดึงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนช่วยกันดำเนินการไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ กำชับให้ สกมช. เร่งรัดการดำเนินการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐาน Cloud Security และมาตรฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การผลักดันให้หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการตามพระราชบัญญัติ และกฎหมายลำดับรอง เพื่อร่วมกันพัฒนาก้าวสู่หน่วยงานดิจิทัลอย่างมั่นคงปลอดภัย รวมทั้งลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ และเสริมเกราะป้องกันข้อมูลของประชาชนให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น”