สกมช. จับมือ กรมการขนส่งทางบก สร้างระบบข้อมูลมั่นคงปลอดภัย ประชาชนอุ่นใจใช้บริการ

สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) โดย พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ร่วมลงนามในบันทึก ความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กับ กรมการขนส่งทางบก โดย นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่ง ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า “ในยุคที่โลกของเรากลายเป็นดิจิทัลมากขึ้น การพึ่งพาเทคโนโลยีของเราเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเปลี่ยนวิถีชีวิตการดำเนินงาน การสื่อสาร และอีกวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป คือวิธีการจัดการระบบการขนส่งทางบก ซึ่งคงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าความปลอดภัยและความมั่นคงของประชาชนนั้นก็ขึ้นอยู่กับระบบขนส่งทางบกด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นระบบควบคุมสัญญาณไฟจราจร ระบบเก็บข้อมูลของผู้ขับขี่ หรือเครือข่ายการสื่อสารภายในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง ทั้งหมดนี้ล้วนเสี่ยงต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ จึงจำเป็นต้องมีแนวทางที่แข็งแกร่งในการปกป้องโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของเราจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ ดังนั้น การร่วมมือกันของทั้ง 2 หน่วยงานจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ข่าวสาร การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ การสร้างความตระหนักด้านสถานการณ์เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ร่วมกัน รวมถึงการสร้างระบบข้อมูลให้ปลอดภัยพร้อมให้บริการประชาชน พร้อมทั้งเป็นรากฐานของการขนส่งสมัยใหม่ที่มีความปลอดภัยทางไซเบอร์มากยิ่งขึ้น และเกิดประโยชน์อันสูงสุดแก่สาธารณะชนประเทศชาติ”
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่ง กล่าวว่า “กรมการขนส่งทางบกได้พัฒนาระบบสารสนเทศ และเทคโนโลยีดิจิทัลทันสมัยเพื่อยกระดับการอำนวยความสะดวกและให้บริการประชาชนในด้านต่างๆ อีกทั้งมีการจัดเก็บข้อมูลประชาชนและมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภายนอกเป็นจำนวนมาก ซึ่งความปลอดภัยทางไซเบอร์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยที่ผ่านมากรมฯ ได้รับความอนุเคราะห์จาก สกมช.ในการช่วยเหลือทั้งในเชิงนโยบายเพื่อให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและทางเทคนิคเพื่อแก้ไขภัยคุกคามทางไซเบอร์ นอกจากนี้ สกมช. ยังได้นำเครื่องมือ อุปกรณ์พร้อมโปรแกรมมาติดตั้งเพื่อการติดตาม ตรวจสอบ และยังได้มาเป็นวิทยากรให้กับกรมฯ ในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ อีกทั้ง 2 หน่วยงานจะร่วมกันสนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมทางด้านวิชาการในด้านการวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาบุคลากร การแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานของทั้งหน่วยงาน และถือว่าเป็นโอกาสอันดีของกรมฯในการที่จะพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้สามารถรับมือ ป้องกัน และแก้ไขภัยคุกคามทางไซเบอร์ รวมไปถึงการรักษาและการคุ้มครองข้อมูลสำคัญ ให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด”